ข้อเสนอว่าด้วยแรงงานของงานที่ไม่ใช้แรง 
เมื่อศิลปินไม่ได้กินน้ำค้างเป็นอาหาร

Lifestyle

  • Pen: pinsel
  • Lens:

Posted: 02 May 2018



ข้อเสนอว่าด้วยแรงงานของงานที่ไม่ใช้แรง
เมื่อศิลปินไม่ได้กินน้ำค้างเป็นอาหาร

pen : pinsel   illustrator : palita chaleepote
 

(1)

“อ่าว เพื่อนกันต้องคิดเงินด้วยเหรอ”
“แค่วาด ๆ เขียน ๆ นิดเดียวเองทำไมแพงจัง งานนี้ขอก่อนนะ ถ้ามีงานหน้าเดียวโยนให้อีก”
“แปลอันนี้ให้หน่อยสิ ง่าย ๆ เธอเก่งอยู่แล้ว แค่นี้ไม่ต้องคิดเงินหรอก ช่วยหน่อย”

    ถ้าคุณไม่คุ้นเคยกับประโยคเหล่านี้ เราขอแสดงความยินดี

แต่ถ้าคุณคุ้นเคยกับประโยคเหล่านี้เป็นอย่างดี ขอเดาว่าคุณมีอาชีพเป็นช่างภาพ นักแปล นักเขียน ศิลปิน หรือทำงานประเภทออกแบบอะไรสักอย่าง และ ใช่, เราคือเพื่อนกัน

    ไม่ทราบข้อมูลแน่ชัดว่าป้าศรีร้านอาหารตามสั่ง เฮียหนวดไข่ปิ้ง พี่เมฆคนงานก่อสร้างที่อยู่ท้ายซอย หรือน้องดาวเอ็มซีเจ้าประจำจะเคยได้ยินประโยค
เทือก ๆ นี้บ้างหรือเปล่า ไหนลองมาสมมติประโยคกันดู

“อ้าว ขาประจำต้องคิดเงินด้วยเหรอ”
“ป้าศรี ลดให้กันหน่อยไม่ได้เหรอจานนี้ เดี๋ยวถ้าพรุ่งนี้หิวเดี๋ยวมากินร้านป้าอีก”
“น้องดาว โฟนงานนี้ให้หน่อยสิ น้องโฟนเก่งอยู่แล้ว แค่นี้ไม่ต้องคิดเงินเหรอ ช่วยหน่อย”

- ขอเดาว่าประโยคพวกนี้ไม่น่าจะมี (หรือถ้ามีใครกล้าพูด ป้าศรีก็คงแพ่งกะบาลด้วยกระบวยตักซุป)

 

(2)

    การถอดรหัสเหตุการณ์นี้ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก ด้วยโมเดลของอาชีพแต่ละอาชีพนั้นแม้จะแตกต่างกัน แต่ก็มีลักษณะทับซ้อนอยู่หลายประการพอที่จะจัด
หมวดหมู่ได้คร่าว ๆ

    ครั้งหนึ่งเคยมีเฟซบุ๊กเพจที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ รวยด้วยหุ้นหรือเรื่องพรรค์นั้น ทำอินโฟกราฟฟิคเรื่องอาชีพเสริมที่น่าสนใจ ซึ่งก็หนีไม่พ้น
ช่างภาพ นักเขียน นักดนตรี วาดภาพประกอบ และดราม่าเกิดขึ้นทันทีเมื่อเพจระบุ “ต้นทุน” ของอาชีพเสริมแต่ละอาชีพไว้อย่างแสบสันต์

    ช่างภาพ กล้อง 1 ตัว 20,000 – 50,000 บาท, นักเขียน, นักวาดภาพประกอบ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก 10,000 – 25,000, นักดนตรี เครื่องดนตรี
15,000 – 30,000 บาท ฯลฯ

    ไฟลุกท่วมเพจอย่างช่วยไม่ได้ - เพราะต้นทุนเหล่านี้เป็นต้นทุนเพียงส่วนหนึ่งของงานเท่านั้น เรายังมีต้นทุนอื่น ๆ หลังม่านอีกมหาศาล หนังสือที่ซื้อมาอ่านต่อยอดความคิด เวลาที่มาต้องมานั่งติดแหง็กอยู่ในห้องซ้อมอาทิตย์ละหลายชั่วโมง ค่าเลนส์กล้องและโปรแกรมลิขสิทธิ์ที่ใช้โพรเซสภาพ งานดราฟแรก
ดราฟสองที่ต้องลบทิ้ง 

    นี่ยังไม่นับรวมเวลาของชีวิตที่หายไปกับการฝึก เพื่อนในวงที่ทะเลาะกันแตกหัก เงินที่เสียไปเป็นค่าเรียนตั้งแต่มัธยม เวลาหลีหญิงที่หายไปในวัยหนุ่ม
ค่านวดแผนโบราณเพราะกล้องทำไหล่พัง อาจฟังดูงอแงและเข้าข้างพวกตัวเองไปหน่อย แต่, เชื่อเราเถอะ, ว่าเหล่านี้ก็เป็นต้นทุนด้วยทั้งนั้น!

 

(3)

    “ศิลปินต้องกินน้ำค้างเป็นอาหาร” ประโยคนี้โผล่มาครั้งแรกบนเสื้อยืดของวง Migrate to the Ocean วงดนตรีอินดี้ลายครามจากค่าย Minimal
แห่งเชียงใหม่บ้านเรานี่แหละ และหลังจากนั้นก็ขึ้นแท่นเป็นคติประจำใจของเหล่าศิลปินผู้กินน้ำค้างเป็นอาหารทั่วประเทศ นับว่าเป็นคุณูปการต่อวงการ
ศิลปินเป็นอย่างยิ่ง

    ภาพศิลปินผู้รุ่มรวยในอารมณ์ นั่งหลับตาพริ้มพรมนิ้วลงบนแป้นพิมพ์, คีย์บอร์ด, ผ้าใบ แล้วบรรจงสร้างงานศิลปะออกมาปลอบประโลมโลกอันเหี่ยวเฉานั้นเป็นเพียงมายาคติเท่านั้น (- หรืออาจเป็นภาพจริงในหมู่ศิลปินชั้นสูงผู้มีโอกาสได้ประสบความสำเร็จในอาชีพขณะยังมีชีวิตอยู่) เพราะในชีวิตจริงเชื่อได้ว่ามากกว่าครึ่งของเหล่าแรงงานที่ไม่ค่อยออกแรงทำงานเหล่านี้ล้วนแต่ถูกขบเคี่ยวด้วยภาวะบีบคั้นทั้งทางอารมณ์และทางการเงิน

    เพราะในชีวิตจริงไม่มีใครกินน้ำค้างเป็นอาหาร

ในชีวิตจริงศิลปินก็กินข้าว เช่นเดียวกับนักเขียนที่ต้องผ่อนรถ และช่างภาพก็ต้องเก็บเงินแต่งเมีย

    ในระหว่างที่เราต้องต่อสู้กับภาวะ ‘รออารมณ์’ และ ‘รอมีงาน’ เราเองก็ต้องต่อสู้กับภาวะ ‘รอจ่าย’ ของบิลค่าน้ำค่าไฟ และภาวะ ‘รอจะแ-ก’ ของปากท้องด้วย

    ในขณะที่เราจ่ายเงินไปกับเลนส์กล้อง หนังสือ โปรแกรมลิขสิทธิ์ เอฟเฟกต์ก้อนใหม่ ค่าห้องอัด และสรรพสิ่งที่ต่อยอดอาชีพของเรา เราถือเป็น ‘ต้นทุน’ ส่วนหนึ่งเท่านั้น

    เพราะเรายังมี ‘ต้นทุน’ อีกส่วนหนึ่งที่มาจากเวลาที่เรานั่งคิด นั่งศึกษา ร่างแบบไว้ในหัว เปิดดูหนังสือหัวนอกเล่มใหม่ เลยเถิดไปจนถึงค่ายาสมุนไพรและยาต้านเศร้า ฯลฯ ที่เป็นอีกส่วนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังงานแต่ละชิ้น

    หากวันไหนที่เจอเรานั่งเฉย ๆ แล้วบอกว่าเรากำลังทำงาน แม้จะไม่ได้เห็นเราออกแรง ก็ขอให้เชื่อเถิด, ว่าเราทำงาน 
 

(4)

    ในขณะที่ป้าศรีออกแรงกระซวกเส้นก๋วยเตี๋ยวลงในหม้อ ป้าศรีกำลังทำงาน
    ในขณะที่พี่เมฆแบกกระสอบปูนและขนทราย พี่เมฆกำลังทำงาน
    ในขณะที่ดีไซน์เนอร์แว่นหนาเตอะนั่งจ้องจอเพราะคิดไม่ออก เขาก็กำลังทำงาน
    ในขณะที่นักแปลเคาะนิ้วกับหน้ากระดาษว่างเปล่า สายตาจ้องลึกเข้าไปที่อื่นไม่มีจุดหมาย เธอก็กำลังทำงาน

    ด้วยตรรกะชุดเดียวกันที่ไม่มีใครขอป้าศรีลดราคาค่าอาหารตามสั่ง ทำไมผู้คนจึงดึงดันขอปรับลดราคากับงานเขียน งานแปล งานภาพ งานดนตรี งานภาพยนตร์?

    ย้อนกลับไปอ่านประโยคแรกของบทความนี้กัน.

    ด้วยต้นทุนรูปธรรมของป้าศรี เฮียหนวด พี่เมฆ และน้องดาวนั้นค่อนข้างจะเป็นรูปธรรม ( อันที่จริงในกรณีของน้องดาวก็ยังถือว่าคาบเกี่ยว เพราะจริง ๆ อาชีพเอ็มซีนั้นมีต้นทุนที่ต้องฝึกฝนและดูแลตัวเองค่อนข้างสูง แต่ไม่ยักจะได้ทราบข่าวคราวว่ามีใครขอลดราคากันบ้างไหม – อย่างไรใครมีข้อมูลวานกระซิบบอกที)

    แต่ต้นทุนของบรรดาอาชีพที่ ‘นั่งเฉย ๆ’ เหล่านั้นดันมีต้นทุนที่แฝงตัวอยู่เงียบ ๆ ไม่เสนอหน้าให้คนอื่นเห็น งานเหล่านี้จึงดู ‘ง่าย ๆ’ ‘วาด ๆ เขียน ๆ’ ‘พิมพ์แป๊ปเดียว’ ก็ได้เนื้องาน

    “เก่งอยู่แล้ว ช่วยหน่อย ไม่ต้องคิดเงินกันหรอก”

    อยากให้ลองไปพูดประโยคนี้กับป้าศรีดูนะครับ ลองดู...
 

(5)

    อันที่จริงแล้วศิลปินก็ไส้แห้งกันมานานเท่าที่ประวัติศาสตร์จะเคยเล่าถึงนั่นแหละครับ อาจมีช่วงร่ำรวยอยู่บ้างแต่ก็เป็นคืบสั้น ๆ และจำกัดอยู่ในแวดวงแคบ ๆ รองรับรสนิยมของผู้มีอันจะกิน สุดท้ายงานศิลปะจึงต้องขยับขยาย ลดความเข้มข้นลงและจับมือกับศาสตร์อื่น ๆ พัฒนาตัวเองจนแทรกตัวเข้ามาอยู่ในแวดวงธุรกิจ การศึกษา และวงการอื่น ๆ ได้อยู่พอสมควร

    แทรกตัวเข้ามาเนียน ๆ ในฐานะของแรงงานอีกรูปแบบหนึ่ง ที่ไม่ได้กินน้ำค้างเป็นอาหาร

    โลกนี้ต้องมีความสมดุลทั้งหมดทุกมิติ ความหลากหลายของอาชีพก็เหมือนกัน เพราะการทำงานของทุกอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรก่อสร้าง ร้านอาหารตามสั่ง ช่างเย็บผ้า คุณหมอ ตำรวจ ทหาร นายก โฆษกสภาฯ รวมถึงเหล่าช่างภาพ นักเขียน นักดนตรี ศิลปิน เราทุกคนมีส่วนในการขับเคลื่อนโลกไปทั้งนั้น ทั้งในมิติของสังคมและมิติของเศรษฐกิจ

    เราไม่ได้หวังจะเป็นศิลปินแห่งยุคไปหมดทุกคนหรอกครับ (เพราะแม้แต่ศิลปินแห่งยุคบางคนอย่าง Vincent Van Gogh หรือแวนโก๊ะที่เรารู้จักกันดี ในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่ก็รันทดหดหู่น่าดู) 

    ขอเพียงแค่มองเห็นงานที่ไม่ค่อยได้ออกแรง และต้นทุนลับ ๆ ของเราเหล่านี้ในระบบเศรษฐกิจบ้าง 

    ข้าวก็ต้องกิน รถยังต้องผ่อน เมียก็รอแต่ง

    ด้วยความเคารพนะครับ เรทราคาเท่านี้ก็ไม่ค่อยมีจะแ-กแล้ว

    อย่างไรก็ตาม สุขสันต์วันแรงงานย้อนหลัง แด่แรงงานใช้แรง และแรงงานที่ไม่ค่อยได้ใช้แรงทุกคน

    สู้กันต่อไปครับ.