DUANGDUAN THE DRESSMAKER
Cool pals
- Pen: ทัวร์แมร์
- Lens: Banana
Posted: 01 December 2017
กลุ่มคนผู้ถักทอเสื้อผ้าด้วยสายใยความสัมพันธ์ของครอบครัว
ดวงเดือน เดอะ เดรสเมกเกอร์ (DUANGDUAN THE DRESSMAKER) คือแบรนด์เสื้อผ้าเล็กๆ จากเชียงใหม่ที่ผลิตเสื้อคลุมกิโมโนแนวญี่ปุ่นหากแทรกกลิ่นอายของชาวเหนืออยู่ในตัววัตถุดิบ รวมไปถึงเส้นเรื่องของการเป็น “ผ้าใส่สบายเหมือนแม่ตัดให้” ภายใต้การสร้างสรรค์จากไอเดียและฝีมือของปอ-กิตติธัช สุริยะป้อ แซนดี้-บุญญิสา อินวิจิตต์ และแม่อี๊ด-ดวงเดือน สุริยะป้อ ผู้ที่นอกจากจะตัดเย็บทุกชุดเองกับมือแล้ว ยังเป็นต้นแบบของโลโก้ร้านสีส้มแสนสะดุดตานี้
เสื้อผ้าของแบรนด์ดวงเดือนฯ เป็นที่เตะตาต้องใจให้กับคนหลายกลุ่มตั้งแต่ยังไม่เปิดขายอย่างเป็นทางการ ด้วยสไตล์ที่เป็นเอกลักษณ์ และเนื้อผ้าใส่สบาย และเมื่อเปิดขายก็กระจายไปสู่วงกว้างถึงขนาดที่ได้ไปออกบูธไกลถึงต่างประเทศด้วย ในวันอากาศดีแบบนี้ FINE TEAM จึงอยากนัดคุยกับทั้งผู้ก่อตั้งทั้งสามเพื่อเรียนรู้แนวคิด และแรงบันดาลใจในการการเป็นกลุ่มคนที่ “Do It Whatever It Takes” (ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม ขอให้ได้ทำ) ของพวกเขา
FD: ดวงเดือนเริ่มขึ้นมาได้ยังไง
ปอ: เริ่มมาประมาณปลายปีที่แล้ว มันเกิดจากการที่เราชอบใส่เสื้อคลุม มีเสื้อแจ็คเกต คาร์นิแกน เป็นปกติอยู่แล้ว เนื่องจากว่าอ้วน (หัวเราะ) ไม่ใช่ คือชอบใส่ มีช่วงหนึ่งเป็นเทรนด์ของเสื้อทรงญี่ปุ่น กิโมโน ยูกาตะ เราก็พยายามไปหาซื้อในเน็ต แต่เราก็รู้สึกว่ามันใส่ยาก เคยมีตัวหนึ่งที่แซนดี้ไปหาซื้อได้ที่ร้านขายเสื้อผ้ามือสอง เป็นยูกาตะที่มัน Traditional มากๆ ใส่ในชีวิตประจำวันไม่ได้ เราซื้อมาแล้วเรารู้สึกชอบนะ แต่เราพบว่าผ้าที่ซื้อมามันไม่ใช่ที่เราชอบซะทีเดียว เป็นผ้าม่อฮ่อมเฉยๆ ที่ซักแล้วสีตก เราก็เลยคิดว่าถ้าเปลี่ยนผ้าน่าจะดี
อยู่มาวันหนึ่งเราเดินไปเที่ยวกาดหลวง เจอผ้าที่เราคิดว่าแบบนี้น่าจะมาตัดเสื้อเป็นทรงนี้ได้นะ เราเลยซื้อมาให้แม่ตัดให้ ใส่กันสองคนกับแซนดี้ ซึ่งแม่ตัดได้ดีกว่า
แซนดี้: เพราะแม่จะมีการใส่ไอเดียของตัวเอง เช่นการใส่ผ้าปกแบบบางตรงขอบ ให้มันอยู่ทรง ถ้าเราใช้คนอื่นหรือซื้อยี่ห้อต่างๆ เขาจะไม่ได้ใส่ใจเรื่องดีเทลตรงนี้ เวลาใส่มันก็เลยย้วยๆ หน่อย ข้อดีของไอเดียแม่คือ เสื้อของเราใส่สบายเข้ากับอากาศเมืองไทย เพราะไม่ได้เป็นผ้าที่หนามาก แต่ใส่แล้วอยู่ทรง
ปอ: ทีนี้เราเอาไปใส่ ไปเที่ยวงานที่หนึ่งที่ท่าแพอีสท์ เป็นเสื้อคู่ตัดตัวยาวตัวหนึ่ง สั้นตัวหนึ่ง แล้วมีคนชอบ อยากได้ ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นมีงาน Yard Sale ของบ้านข้างวัด เราก็แอบเอาเสื้อกิโมโนที่ตัดใส่เองมาห้อยให้คนลอง
แซนดี้: ตอนนั้นที่มีคนชอบเยอะ อยากซื้อเยอะ แต่เราไม่มั่นใจว่าทำขายแล้วอยากมีคนซื้อจริงหรือเปล่า เราก็เลยไปซื้อผ้าชิ้นเล็กๆ ตามร้านมาตัด ทำเหมือนพาเลท แล้วทำเป็นป้ายเล็กๆ แขวนไว้กับเสื้อ เขียนไว้ว่าเปิดพรีออเดอร์ คนก็จะมาลองใส่ ลองเลือก ปรากฏว่าคนสั่งเยอะแบบไม่คิดว่าจะเยอะขนาดนี้ เราก็เลยคิดว่าน่าจะทำให้มันเป็นรูปเป็นร่างได้แล้ว จากตอนนั้นก็พัฒนามาเรื่อยๆ ตั้งเป็นแบรนด์ดวงเดือนเพราะแม่เป็นคนตัด สร้างโลโก้ร้านด้วยการไปขโมยรูปโปรไฟล์แม่มาดราฟต์ (หัวเราะ) ทำเพจ ทำแคตตาล็อก ทำให้ดูเป็นร้านขายเสื้อออนไลน์ แบรนด์ดวงเดือนก็เกิดจากตรงนั้น
FD: สินค้าของทางร้านเป็นอย่างไร
ปอ: เรามีทั้งสต็อกและพรีออเดอร์ ถ้าเป็นเสื้อคลุมกิโมโนจะฟรีไซส์อยู่แล้ว มีทั้งแบบสั้นและยาว แต่ถ้าเป็นฮูดิแกน ก็จะมีไซส์ S M L จุดเด่นของร้านเราคือสั่งตัดได้ สำหรับคนที่มีปัญหาอย่างตัวเล็กเกินไป ตัวใหญ่เกินไป อยากมีเสื้อของตัวเองที่ใส่แล้วสวย เราก็จะมีรูปที่อธิบายให้เขาว่าควรวัดตัวยังไง แล้วส่งตัวเลขนั้นมาให้เรา และความยาวที่ต้องการ เราก็จะตัดให้ใน 7-10 วัน เป็นการคัสตอมได้
FD: ทีมของคุณแบ่งงานกันทำอย่างไร แต่ละคนทำอะไรเป็นหลัก
ปอ: มีสามคน คนที่ออกไอเดียหรือออกแบบดีไซน์คือเรากับแซนดี้ ส่วนคนที่ดูเรื่องรายละเอียดของ Product ดูทรงผ้า คือแม่กับคุณน้าอีกคนที่เป็นญาติกัน เพราะเราไม่ได้มีความสามารถเรื่องตัดเย็บเท่าแม่
แซนดี้: เหมือนเราเป็นคนดีไซน์ แล้วแม่ก็จะบอกว่ามันทำได้จริงๆ ไหม หรือเพิ่มลูกเล่นอะไรตามสไตล์แม่ไป อย่างถ้าเป็นฮู้ด แม่ก็จะเพิ่มเรื่องแขนให้ดูเป็นแขนเชิ้ต เวลาใส่จะดู Formal มากขึ้น
แม่ดวงเดือน: ตอนนี้แม่เป็นพยาบาล แต่ว่าแม่เป็นคนชอบตัดเสื้อ แม่เห็นยายที่ชอบทำให้แม่ดูตั้งแต่แม่ยังเด็ก เพราะเมื่อก่อนมันไม่มีของเล่นอะไรเหมือนสมัยนี้ ตอนยายตัดชุดให้เราเราก็จะชอบไปดูว่าเมื่อไหร่เขาจะเสร็จ เราก็จะไปสอยช่วยบ้าง หรือตอนยายไม่อยู่แม่ก็แอบไปเย็บจักร ก็เลยชอบมาตั้งแต่ตอนนั้น
แม่เป็นพยาบาลอยู่เวรกลางคืน กลางวันมันว่างแม่ก็ไปหาความรู้ในการเย็บผ้า ศึกษาด้วยตัวเอง เรียนเย็บกับช่างในหมู่บ้านที่ทำอาชีพเย็บผ้าจริงๆ แม่ก็เลยทำได้
เมื่อตอนสมัยเป็นพยาบาลที่ตอนนั้นยังไม่มีลูกสักคน แม่ก็จะรับจ้างตัดฟอร์มพยาบาล และตัดทุกอย่างที่เขาอยากให้เราตัด พอมีลูกแม่ก็พักไปช่วงหนึ่ง แต่ก็ทำให้ตัวเองบ้าง ตัดกระเป๋า ตัดเสื้อใส่เอง แม่จะทำของแม่เอง
ปอ: หลักๆ คืองกด้วย (ยิ้มขำ)
FD: ช่องทางการขายกระจายทางไหนบ้าง?
ปอ: ปกติเราจะขายทางออนไลน์ Facebook, Instagram แล้วก็ Line@ และพอดีรู้จักกับพี่ที่ร้าน Lynyn’s House เลยขอนำมาวางขาย เพราะสินค้าของเรากับที่ร้านก็จะคล้ายๆ กัน
FD: แนวคิดและแรงบันดาลใจหลักของแบรนด์คืออะไร แล้วมันสะท้อนความเป็นตัวคุณยังไง
แซนดี้: เพราะเราอ้วน (หัวเราะ) ไม่ เพราะว่าเราชอบเสื้อคลุมอยู่แล้ว เราคิดว่าเราอยากได้เสื้อคลุมที่ใส่ได้ไปนานๆ เพราะเราขายราคานี้เราก็อยากให้คนใส่ได้นานๆ ถ้าเป็นเราเรายอมซื้อด้วยดีไซน์ที่ใส่ได้ทุกวัน ใส่ได้หลายโอกาส
เวลาเราดีไซน์เสื้อขึ้นมา เราก็พยายามคิดว่าเสื้อตัวนี้มันใส่ไปไหนได้บ้าง เข้ากับชีวิตประจำวันได้หรือเปล่า ไปทำงานแล้วเราต้องเจออะไรบ้าง อย่างเนื้อผ้าเราก็จะคิดว่า ไม่อยากให้มันหนาเกินไป เพราะร้อน แต่ในขณะเดียวกันถ้าเข้าออฟฟิศก็น่าจะกันหนาวได้ประมาณหนึ่ง เราก็เลยเลือกผ้าชนิดนี้มา ซักแล้วสีไม่ตก เหมาะกับอากาศเมืองไทย
ปอ: เราคิดว่าถ้าเรามีเสื้อตัวหนึ่งที่เราไม่ต้องถอดๆ ใส่ๆ ไปตลอดทั้งวันมันคงจะโอเค
แซนดี้: เรื่องดีไซน์ตอนนี้เราก็พยายามจะขยับจากการเป็นเสื้อคลุมสไตล์ญี่ปุ่นออกมา แต่ก็ไม่ได้ทิ้งความเป็นญี่ปุ่นไปเลย เพราะจุดกำเนิดของเรามันมาจากความเป็นญี่ปุ่น อย่างตัวฮูดิแกนเราก็จะมีขอบเสื้อสไตล์ญี่ปุ่นอยู่ อาจจะไม่ค่อยเห็นแต่จริงๆ มีอยู่ เราค่อยๆ ลดทอนมันเพื่อที่เราจะได้มีกรอบที่กว้างขึ้นในการดีไซน์ เพราะเราจะไม่หยุดแค่แบบ “ฉันจะทำทุกอย่างให้เป็นญี่ปุ่น” อะไรแบบนี้
คนจะเข้าใจว่าเสื้อของเราจะมีกลิ่นอายความเป็นเหนืออยู่ ซึ่งโอเค เราอาจจะไม่ได้ใช้ผ้าทอมือของคนเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เวลาเราเลือกผ้า ก็จะคำนึงถึงความเฟรนด์ลี่ต่อคนใส่ด้วย ไม่ใช่แบบ...ผ้าแข็งๆ พอมันมีความเฟรนด์ลี่ คนอาจจะเห็นถึงคุณค่ามากกว่า จริงๆ สตอรี่ไลน์หลักของแบรนด์เราคือการที่แม่เป็นคนทำ แล้วคุณจะได้เสื้อที่ได้รับการใส่ใจในการตัดเย็บจริงๆ จากคนเป็นแม่ แต่กลิ่นอายของความเป็นเหนือมันมีไว้ให้คิดถึงจางๆ เฉยๆ แสดงให้เห็นว่าเราเป็นครอบครัวคนเหนือ มันไม่ใช่กลิ่นที่แรงเกินกว่าที่จะรับได้
แต่ว่าถ้าเป็นส่วนของ Accessories ที่เป็นตุ้มหู อันนั้นคือจะชัดในความเป็นเหนือกว่า อย่างตุ้มหูที่ชื่อว่า “เย้ายวน” เราก็เอาลายเสื้อกลมๆ ของม้งมาทำเป็นตุ้มหู ต่อยอดจากสิ่งใกล้ตัว หรือว่าโอบิ (ผ้ารัดเอวของเสื้อคลุม) เราก็ใช้ผ้าที่ใช้เย็บเบาะที่นอน (สะลี) ลายดอกๆ สีเจ็บๆ เราเอามาทำเป็นโอบิ เพราะตอนเด็กๆ เราเคยนอนแบบนี้ เลยนึกถึงตอนเด็กๆ และความเป็นครอบครัว เลยหยิบเศษเสี้ยวของความทรงจำ ความเป็นครอบครัวมาเล่าผ่านดีไซน์
FD: ทำยังไงถึงคิดได้ขนาดนี้
ปอ: ด้วยความที่เราเป็นคนไทย เรารับสารทุกรูปแบบจากต่างประเทศ จากของบ้านเรา ที่เราเรียนมา ถ้าเรื่องไอเดียยกให้แซนดี้เป็นคนคิด เพราะแซนดี้เป็นคนที่มักจะมีความคิดที่แปลกๆ ความคิดบางอย่างที่ตอนแรกคิดว่าไร้สาระ แต่สุดท้ายมันก็ทำออกมาได้
แซนดี้: คือปอจะชอบไม่เชื่อเราเวลาเราคิด หรือเวลาเราร่างออกมา ปอจะแบบ...มันไม่โอเค จนเราทำมันออกมา หรือเราไปถ่ายรูปออกมา เหมือนเซตโอบิที่ปอไม่เชื่อว่ามันจะขายได้ เพราะปอเกลียดมันมาก (ปอหัวเราะ) มันเป็นสีแจ๊ดๆ ไม่มินิมอล แต่เราไปขอให้แม่ตัดให้ แล้วก็นัดเพื่อนไปถ่ายรูป มัดโอบิ ใส่รองเท้าบูธสูงๆ ยืนตรงศาลเจ้าจีน พอถ่ายออกมาก็สวย คนซื้อเยอะมาก ปอก็แบบ...เฮ้ยมันดีว่ะ (หัวเราะ)
แม่ดวงเดือน: ยิ่งมีไอเดียแปลก คนก็ยิ่งจะเข้าหา คนเดี๋ยวนี้จะชอบดีไซน์อะไรใหม่ๆ ที่เรานึกไม่ถึง
แซนดี้: บางอย่างเราติดคิดเป็นอาร์ต เพราะเราเรียนเป็นอาร์ต ทำคอนเซ็ปต์อาร์ตเยอะ เรารู้สึกว่าบางทีที่เราลองทำอะไรที่คนอื่นไม่ทำ หรือปอคิดว่าไม่เวิร์ก มันอาจจะเวิร์กก็ได้นะ ทำไมเราถึงไม่ลองดูก่อน อย่างน้อยทำออกมาก็เหมือนเป็นการโชว์ Attuitude ของแบรนด์ ถ้าเราไปดูแบรนด์ใหญ่ๆ พวกไฮแฟชั่น ไฮเอนด์แบบ GUCCI อะไรแบบนี้ มันไม่มีคนใส่ชุดเหมือนนางแบบบนรันเวย์ออกมาเดินทั้งหมดหรอก แต่เราคิดว่านั่นคือเป็นการโชว์ว่าสิ่งที่เราคิด คือคาแรกเตอร์ของนางแบบที่สวมสิ่งพวกนี้อยู่ พอคนมองแล้วรู้สึกอิน เขาถึงจับบางอย่างในตัวนางแบบ อาจจะไม่ใช่ทั้งชุด บางคนอาจอินกับรองเท้า กับเสื้อผ้า หรือเข็มขัด มันเป็นการต่อยอดความคิดเขาอีกทีหนึ่ง เรารู้สึกว่าเนี่ยมันดีนะ เราเหมือนคิดไอเดียก้อนใหญ่แล้วคนอื่นก็ไปกระจายได้ เหมือนเป็นการสร้างโอกาสให้แบรนด์ที่จะมีลูกค้าใหม่ๆ ด้วย อย่างช่วงที่ขายโอบิเราก็จะมีลูกค้าเป็นผู้หญิงมากขึ้น ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นผู้ชายเป็นหลัก
เราว่ามันไม่ได้แย่เลยถ้าเราจะทำอะไรแบบ Weird เราว่ามันโอเค...แต่ก็ต้องผ่านปอให้ได้ก่อนในแต่ละรอบ (หัวเราะ)
FD: นิยามของแฟชั่นหรือการแต่งตัวสำหรับคุณเป็นอย่างไร
ปอ: ถ้าตัดเรื่องของปัจจัยสี่ไปแล้ว เราว่าการแต่งตัวมันเป็นเหมือนกิจกรรม เป็นเหมือนงานอดิเรก เหมือนสิ่งที่เราคุยกัน ถ้าเรามีเพื่อนมีสังคมที่เขาคิดเหมือนๆ กับเรา พูดเหมือนกับเรา อย่างเราเราก็จะมีสังคมของเพื่อนที่ชอบแต่งตัวระดับหนึ่ง เป็นผู้ชายแต่งตัวแนวๆ นี้ พูดกันเรื่องพวกนี้ได้ มันเหมือนว่าเรื่องการแต่งตัวเป็นส่วนที่ทำให้เรา Connect กับคนอื่น แล้วทำให้มันเกิดการพูดคุย เกิดสังคม เกิดการรวมกลุ่ม
การแต่งตัวก็เหมือนกับการที่เราชอบเล่นเกม หรืออ่านหนังสือ เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ดี แล้วถ้าเราชอบแล้วมันสามารถสร้างรายได้ให้เราได้ เราก็รู้สึกว่าเรามีความอยากที่จะทำมากขึ้น เพราะฐานของเราเป็นคนชอบแต่งตัว แน่นอนว่าเราต้องชอบของเราก่อนเราถึงจะกล้าที่จะขายให้คนอื่นใช่ไหม เราต้องชอบที่จะใส่
แซนดี้: ของเราก็คล้ายๆ ปอ แต่เราคิดว่าสำหรับเราการแต่งตัวก็เหมือนการโชว์ Attitude ตัวเอง ซึ่งจริงๆ เราเป็นคนที่แต่ละวันของเราแต่งตัวไม่ซ้ำกันเลย เพราะรู้สึกสนุกที่ได้แต่งแบบแปลกๆ บางวันสบาย บางวันเปรี้ยวๆ บางวันหวาน มันเหมือนเป็นการแสดงออกว่าตอนนี้ฉันคิดอะไรอยู่ ฉันกำลังอินกับการเป็นผู้หญิงที่ดูฉลาด หรือเป็นคนญี่ปุ่นค่ะ (หัวเราะ) ซึ่งเสื้อผ้าสามารถดีไซน์คาแรกเตอร์ตัวเรา ที่เราอยากแสดงออกให้คนอื่นรู้จักเราได้แบบนั้นจริงๆ ไม่รู้ดิมันเหมือนเป็นความชอบแต่งตัวแล้วมันสนุกกับทุกๆ วันที่มีเวลา เราสนุกกับการครีเอทลุคใหม่ๆ คาแรกเตอร์ใหม่ๆ ให้ตัวเองตลอดเวลา
แม่ดวงเดือน: แม่จะชอบมองว่าวัยรุ่นแต่งตัวอย่างไร แต่ในความคิดของคนรุ่นแม่แม่จะชอบมองคนที่แต่งตัวเหมาะสมกับกาลเทศะ
FD: เล่าถึงตอนไปสิงคโปร์ให้ฟังหน่อย
ปอ: ช่วงต้นปีเราได้ไปเอาราวผ้าของเราไปตั้งที่งาน NAP เผอิญมีออร์แกไนเซอร์จากสิงคโปร์ไปเจอเราแล้วเขาก็ทักมา แต่คนสิงคโปร์เขาไม่เล่นเฟซบุ๊ก แต่เขาลงทุนสมัครเฟซบุ๊กมาเพื่อติดต่อเรา ตอนแรกเราก็ไม่เชื่อเพราะโปรไฟล์เขาเหมือนคนที่เพิ่งตั้งเฟซบุ๊ก (ซึ่งก็เป็นแบบนั้นจริงๆ) เหมือนโนบอดี้ ไม่มีข้อมูลอะไรเลย เขาทักมาบอกเราว่าเป็นใคร แล้วก็นัดเจอกัน
พอนัดเจอกันเขาก็มาชวนเราไปขาออกบูธที่สิงคโปร์ จริงๆ เขาเล่าให้ฟังว่าที่สิงคโปร์มันจะมีแต่แบรนด์นำเข้า ไม่ค่อยมี Local Brand เขาอยากเพิ่มทางเลือกให้คนในประเทศเขาที่สามารถเลือกเสื้อผ้าแบรนด์จากต่างประเทศที่ไม่ค่อยมี เขาจึงอยากมีแบรนด์ที่ไปขายที่นู่นซึ่งเป็น Independent Brand จาก Southeast Asia ซึ่งทำงานแฮนด์คราฟต์ แฮนด์เมดซะส่วนใหญ่ เราไปเจอแบรนด์จากไต้หวัน จีน ไทย อินโดนีเซียมาด้วย มันเป็นประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้ไปขายที่นู่น และเป็นการทำให้คนที่นู่นเขารู้จักเราด้วย
แซนดี้: มีร้านอื่นที่สไตล์คล้ายๆ เรา แต่เราจะเด่นที่สี ลาย แล้วก็เนื้อผ้า เขาจับๆ ดูแล้วก็แบบเซอร์ไพร์สว่ามันมีผ้าแบบนี้ด้วยเหรอ ยิ่งบอกว่าแม่เราตัดเอง โลโก้นี้ก็หน้าแม่เรา เขาก็แบบ ทำไมน่ารักจัง มีสตอรี่ของแบรนด์ จากงานนั้นคนเลยรู้จักแม่เยอะกว่าเราอีก (หัวเราะ)
FD: ถ้ามีคนอยากดีไซน์เสื้อผ้าของตัวเอง หรืออะไรก็ตามที่เขาคิดว่าความคิดของเขามันแปลกประหลาด เขายังไม่กล้าทำ เราจะบอกเขาว่ายังไง
แซนดี้: ทำไปเลย ไม่ต้องคิดเยอะ เพราะถ้ามัวแต่คิดจะไม่ได้ทำ ทำแล้วให้รู้ว่าแบบมันไม่เวิร์ค ก็ยังดีกว่า จะได้ทำไปอย่างอื่น ไม่ต้องมานั่งแบบ “ก็ฉันไม่ได้ทำสักทีไง จริงๆ ฉันมีไอเดียที่ดีมากเลยนะแต่ไม่ได้ทำสักที เธอไม่เชื่อเหรอ” คือจะเชื่อได้ไงนอกจากจะได้ทำ ทำแล้วจะได้รู้ว่าดีหรือไม่ดี มันเห็นชัดอยู่แล้วเพราะว่าเธอทำมันออกมาแล้ว มันเป็นการเริ่มต้นที่ดีมากแค่ทำออกมา อย่างตอนเราจะพัฒนา Product ตัวหนึ่งเราเสียเงินเยอะมากกับการช็อปปิ้งผ้าแบบต่างๆ ซื้อๆ มากองเต็มห้อง บางอันก็ใช้ได้ บางอันก็ใช้ไม่ได้ เราได้ทำเราถึงรู้ว่ามันดีหรือไม่ดี ให้มันจบ ไม่งั้นมันจะไม่มีอะไรเป็นตัวยืนยันว่าไอเดียของเราดี
FD: ฝากดวงเดือนกับคนอ่านหน่อย
ปอ: เราเป็นแบรนด์เล็กๆ ที่ไม่ได้เป็น Full Time Job สำหรับเราทุกคน เราเอาเวลาที่เอาไว้พักผ่อน นอน ทำอย่างอื่น มาทำพวกนี้ เราสร้างสิ่งนี้จากความชอบจริงๆ ถ้าจะฝากอะไรกับคนอ่านก็อยากฝากว่า...อย่าลืมไปกดไลค์เพจนะครับ (หัวเราะ)
แซนดี้: จริงๆ ที่เราทำมันเหมือนเป็นกิจกรรมในครอบครัว ที่เราเอาเวลาว่างมาคุยกับแม่ คุยกับแฟน แล้วทำอะไรร่วมกัน มันเป็น Product ที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของครอบครัว ถ้าเกิดว่าคิดจะซื้อของเราก็อยากให้ลูกค้าคิดถึงจุดนี้ว่ามันเป็นเหมือนการสนับสนุนการสานสัมพันธ์ของเรา มันเป็นสินค้าที่อบอุ่น เต็มไปด้วยไอเดีย และทำด้วยความรักของครอบครัว จากความสัมพันธ์ของการเป็นแฟน และการเป็นแม่ลูกกัน อยากให้ทุกคนที่ซื้อไปใส่แล้วภูมิใจว่าได้ซื้อเสื้อที่ใส่แล้วมีสตอรี่ไลน์แบบนี้
แม่: การที่มีคนสนับสนุนดวงเดือนเดอะเดรสเมกเกอร์ เขาเป็นส่วนช่วยที่ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ดี เป็นกำลังใจที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์งานที่ดีขึ้น และช่วยให้คนมีงานทำมากขึ้นด้วย เพราะยิ่งร้านเราโตเราก็จ้างคนในชุมชนมาเป็นลูกมือ
ติดตามดวงเดือนเดอะเดรสเมกเกอร์ได้ที่
Facebook: https://www.facebook.com/dddressmaker/
Tel: 08 0853 0812
ขอขอบคุณสถานที่: ร้านมาหาสมุด และ Lynyn House บ้านข้างวัด