LETS SPLASH THE POP-NESS AROUND
Lifestyle
- Pen: FINE TEAM
- Lens: PEERAWIT
Posted: 07 April 2018
ในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี คงไม่มีสิ่งใดจะเกินหน้าเกินตามากไปกว่าเทศกาล “สงกรานต์” เทศกาลที่ได้ชื่อว่ามีสีสัน และเป็นที่รู้จัก หรือ “ป๊อป” มากที่สุด
ของชาวไทยและชาวต่างชาติ ผู้คนมากมายต่างเบียดเสียดกันอยู่ตามสถานที่ต่างๆ เพื่อหวังจะสาดน้ำดับร้อนกันในช่วงเดือนที่ร้อนที่สุดของชาติ
ชาวเชียงใหม่ หรือชาวล้านนาเราผูกพันกับเทศกาลนี้มาตั้งแต่อดีต เราเรียกเทศกาลสงกรานต์นี้ว่า ปาเวณีปีใหม่ (หรือป๋าเวณีปีใหม่) ซึ่งจะมีการเฉลิมฉลองวาระ
นี้ทั้งในแง่ของศาสนาและพิธีกรรม รวมไปถึงการละเล่นหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เราแสดงออกถึงความรัก ความกตัญญูที่มีต่อคนในครอบครัว และบุคคลที่เรา
เคารพนับถือ
สีสันของเทศกาลสงกรานต์นั้นอยู่ในทุกที่ ทั้งในประเพณี และวัฒนธรรม เราเห็นการประดับประดาตามบ้านและวัดด้วยตุงสีสันสวยงาม เราเห็นความงดงาม
ของประเพณีที่สืบทอดต่อกันมา เราเห็นการละเล่นด้วยสายน้ำ ทั้งงานที่ยังคงอิงแบบแผนตามขนบ และตามความสนุกสนานแห่งยุคสมัย
แต่แม้สงกรานต์จะเป็นเทศกาลของมวลชนทุกรุ่น ทุกเชื้อชาติขนาดไหน แต่ในทุกสิ่งมีความเปลี่ยนแปลงเสมอ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า เราก้าวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่
และเป็นยุคที่คนรุ่นใหม่มีบทบาทมากขึ้น สิ่งต่างๆ ล้วนเปลี่ยนแปลงไม่มากก็น้อย เรื่องราวของเทศกาลก็ไม่ได้รับการยกเว้น ผู้คนบางยุคที่เติบโตมากับสงกรานต์
ในรูปแบบหนึ่งอาจได้พบกับอีกรูปแบบหนึ่งในปัจจุบัน สงกรานต์สำหรับหลายคนจึงมีความหมายที่เปลี่ยนไป บางคนอาจหมายถึงความสนุกสนาน ในขณะที่
อีกหลายๆ คน หมายถึงเพียงการได้เข้าวัดทำบุญ และพักผ่อนอยู่กับครอบครัว เพียงเท่านั้น
แต่นั่นเป็นเรื่องของยุคสมัย เราย่อมได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของประเพณีนี้ในบางมุมอยู่เสมอ ไม่ใช่เรื่องแปลก
สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือ เทศกาลสงกรานต์ยังคงเป็นช่วงเวลาแห่งสีสัน และความสุข อย่างแท้จริง
วันสังขานต์ล่อง
สังขานต์ หรือ สังขาร ในภาษาล้านนา ตรงกับคำว่า สงกรานต์ ซึ่งมีความหมายสื่อถึงการก้าวล่วง การเปลี่ยนผ่าน หรือการเคลื่อนย้าย วัน
สังขารล่องจึงเป็น วันที่พระอาทิตย์กำลังโคจรเข้าสู่ราศีเมษ
วันสังขานต์ล่องคือวันที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่าน ในบางท้องถิ่นมีความเชื่อว่า สังขานต์ที่ล่องไปนั้นคือปู่สังขานต์และย่าสังขานต์ที่ถ่อแพล่องมา
ตามแม่น้ำ บางท้องถิ่นเชื่อว่าปู่สังขานต์และย่าสังขานต์จะเดินมาตามถนน มารอรับเอาสิ่งอัปมงคลทั้งหลาย
บางตำรากล่าวว่า การล่องของสังขานต์ แท้จริงแล้วคือการเปลี่ยนผ่านของตัวตนไปตามวัยที่ล่วงเลย เมื่อเริ่มนับเวลาปีใหม่ จึงต้องมีการเริ่มต้นใหม่
คนล้านนาจึง ถือเอาวันนี้เป็นวันทำความสะอาดบ้านครั้งใหญ่ เป็นวันชำระสะสาง นอกจากจะทำความสะอาดบ้านแล้ว ยังมีการเผาขยะเพื่อกำจัดสิ่งไม่ดีไปพร้อมกับ
การล่วงเลยของสังขานต์ มีการนำฟูกนอนออกตาก ซักผ้าม่านผ้าห่ม อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาดสะอ้าน
อีกหนึ่งกิจกรรมในวันสังขานต์ล่องคือการดำหัว ซึ่งหมายถึงการใช้น้ำส้มป่อยชำระล้างเอาสิ่งไม่ดีออกจากตัว ซึ่งแตกต่างจากการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ใน
วันพญาวัน การดำหัวในวันสังขานต์ล่องของแต่ละปีมีข้อกำหนดแตกต่างกัน ในปี 2561 นี้ วันสังขานต์ล่องตรงกับวันเสาร์ที่ 14 เมษายน และการดำหัวควร
หันหน้าไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
วันเนา
วันเนาหรือวันเน่า บางปีอาจมี 2 วัน ขึ้นอยู่กับการคำนวณทางโหราศาสตร์ ชาวล้านนาเชื่อว่าวันนี้เป็นวันที่ห้ามสาปแช่ง ห้ามก่นด่าว่าร้ายกัน จะทำให้ทั้งคน
ที่ด่าและคนที่ถูกด่าปากเน่าปากเสียไปตลอดทั้งปี นอกจากนี้แล้วยังเป็น 'วันดา' หรือวันเตรียมอาหารสำหรับไปวัดในวันถัดไป ในอดีตจะมีการตำแป้งและทำ
ขนมซึ่งเป็นกิจกรรมที่ใช้กำลังคนค่อนข้างมาก ถือเป็นกิจกรรมที่ทำให้เกิดการรวมตัวพบปะกันของคนในครอบครัว นอกจากนี้แล้วยังมีประเพณีการขนทราย
เข้าวัดที่เราคุ้นเคยเป็นอย่างดี
วันพญาวัน
วันพญาวัน ถือเป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี เป็นวันเถลิงศก มีการถวายเครื่องสักการะและ ‘ทานขันข้าว’ อันหมายถึงการอุทิศกุศลไปสู่ผู้ล่วงลับ มีการทำบุญใหญ่ใน
ทุก ๆ วัด และจะประดับตกแต่งกองทรายในวัดด้วย 'ตุง' หรือธงกระดาษที่ประดิษฐ์ขึ้นในเทศกาลปีใหม่เมืองโดยเฉพาะ
‘ตุง’ หรือธงกระดาษ นิยมใช้อยู่ 2 รูปแบบ ได้แก่ ตุง 12 นักษัตร และตุงไส้หมู มีลักษณะเป็นพวง มักทำด้วยกระดาษแก้วสองชั้นสลับสีกัน พับและตัดด้วยวิธีเฉพาะ
อันถือเป็นศิลปะการตัดกระดาษที่โดดเด่นของชาวล้านนา
นอกจากพิธีสงฆ์แล้ว ชาวล้านนายังถือเอาวันนี้เป็นวันไหว้ครู ทั้งครูฟ้อนครูเชิง ครูทางโหราศาสตร์ และมีการสักการะเครื่องรางของขลังประจำปี เรียกว่าการ
'ยอขันหลวง' และเป็นวันที่เริ่ม 'ดำหัว' เพื่อขอขมาผู้หลักผู้ใหญ่ และขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลรับต้นปีให้กับตนเองอีกด้วย
วันปากปี
วันปากปีนอกจากจะมีการดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ต่อเนื่องมาจากวันพญาวันแล้ว ยังมีการส่งเคราะห์บ้าน มีการดำหัวเสื้อบ้านหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำบ้าน
มีการสืบชะตาหมู่บ้าน หรืออาจกล่าวได้ว่าพิธีกรรมทางศาสนาที่เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านและครัวเรือนอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากในวันจะนิยมจัดขึ้นในวันนี้
ความเชื่อสำคัญอีกประการหนึ่งในวันปากปี คือการกินแกงขนุน(1) และลาบ(2) เพื่อความเป็นมงคล โดยเชื่อว่าจะทำให้มีคนหนุนนำ และจะทำให้มีโชคลาภ
ไปตลอดทั้งปี และบางท้องถิ่นยังเชื่อว่าหากปลูกพืชพรรณใด ๆ ในวันปากปี ก็จะให้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ไปตลอดทั้งปี
นอกจากวันปากปีแล้ว ชาวล้านนายังมีวันปากเดือน ปากวัน และปากยามอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากการดำหัวของชาวล้านนานั้นเกี่ยวเนื่องกับคนหลายชนชั้น
ทั้งชนชั้นเจ้านาย ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม รวมไปถึงผู้หลักผู้ใหญ่ในวงศ์ตระกูล การดำหัวเพียงหนึ่งหรือสองวันจึงอาจไม่เพียงพอ ราวช่วงปี 2500 เป็นต้นมา
จึงมีวันอื่น ๆ เพิ่มขึ้น เพื่อให้เวลาเดินทางไปสรงน้ำพระธาตุเจดีย์ หรือเดินทางไปดำหัวญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกล และใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวในช่วงปีใหม่ให้
เพียงพอนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม นับแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ตามการคำนวณปฏิทินล้านนาแล้ว วันสังขานต์ล่องจะตรงกับวันที่ 14 เมษายน วันเนาหรือวันเน่าตรงกับวันที่ 15 เมษายน
วันพญาวันจะตรงกับวันที่ 16 เมษายน และวันปากปีจะตรงกับวันที่ 17 เมษายน ซึ่งไม่ตรงกับประกาศวันหยุดของปฏิทินราชการ ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ จึงควร
ยึดตามปฏิทินล้านนาเพื่อความเหมาะสม
แนะนำตัวหน่อย
- สวัสดีค่ะ ชื่อข้าวเขียว เป็นชาวกรุงเทพที่ย้ายมาอยู่เชียงใหม่ อายุ 25 ได้มาเป็นสาวรำวง
เดี๋ยวๆ
- อ๋อ ไม่ใช่(หัวเราะ)
ชื่อข้าวเขียวนี่มาได้ยังไง
- จริงๆ ชื่อข้าว แต่ว่าตอนเรียนมีเพื่อนอีกคนชื่อข้าวเหมือนกัน ตอนนั้นเขาแนะนำตัวกันในเฟสบุ๊คว่าชื่ออะไรกัน เราไปทีหลังแล้วเห็นว่าเพื่อนคนนี้
ชื่อข้าวเราก็เลย โอ๊ะ ชื่อเหมือนกัน ก็เลยกดไปดูเฟซบุ๊ก โอ๊ะ สวย เราเลยคิดว่า เวลาเขาเรียก เขาจะต้องเรียกคนนี้ว่าข้าวสวย และเราต้องโดนเรียก
ข้าวไม่สวยแน่นอน เราไม่ยอม ก็เลยเติมให้เป็นข้าวเขียว เพราะเราชอบสีเขียว
ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง
- ตอนนี้หลักๆ เป็นแม่ครัวที่ร้าน Barefoot Café เป็นบาริสต้าที่ร้าน Penguin Ghetto แล้วก็ขายคราฟท์เบียร์ไทยที่ร้าน Walk-in ค่ะ เราเป็นคน
ชอบเจอคนเยอะ ๆ สนุกดี
เคยถ่ายแบบมาก่อนมั้ย
- ไม่เคยเลย (เน้นเสียง) เพราะเป็นคนขี้อาย (หัวเราะ)
แล้วทำไมตอนติดต่อไปถึงตัดสินใจมาถ่าย
- เอาจริงๆ ก็ยังงงๆ อยู่ตอนที่ตัดสินใจไปถ่าย เพราะเป็นคนขี้อาย เขินกล้อง เกร็งด้วย กลัวทำไม่ได้ แต่พอถึงจุดนั้นวันที่
แสงไฟส่องหน้าก็แบบ เออ! มาถ่ายแล้วจริงๆ
รู้สึกยังไงบ้างกับการถ่ายครั้งแรก
- สนุกดี เพราะตอนแรกเครียด กลัวจะทำได้ไม่ดี แล้วทำให้งานเสีย แต่พอเห็นรูปที่ออกมาแล้วก็รู้สึกว่า เออ...เราก็โอเคอยู่ (หัวเราะ) ชอบมากเวลา
ทีมงานบิลด์เรา จิก ! จิกอีก ! จิกเข้าไป ! อินเนอร์ต้องมา ทำหน้าเฟียส ! สนุกดีค่ะ
เข้าเรื่องดีกว่า ยังจำความรู้สึกแรกตอนเล่นสงกรานต์ได้มั้ย
- ตอนนั้นมาเล่นที่เชียงใหม่ ไปเล่นหน้าบ้านของเพื่อนคุณแม่ ไล่ฉีดใส่มอเตอร์ไซค์ที่เขาไปทำงาน แล้วเขาก็หันมาด่า “ไม่เล่นโว้ย!” (หัวเราะ)
เราก็เลยแบบ เอ๊อ หนูขอโทษ หน้าเขาดุมาก
สงกรานต์ที่ประทับใจที่สุดล่ะ
- ตอนเรียนปีสี่ เป็นช่วงสงกรานต์ ทุกคนกำลังทำตัวจบ เครียดมาก แต่จู่ๆ ทุกคนก็วางงานทุกอย่างหมด แล้วบอก “ป้ะ รอบคูเมืองกัน” ก็เลยไปเดินวนรอบ
คูเมืองกันรอบนึง อีกวันมานี่เดินไม่ได้เลย ปวดขาเว่อร์
ถ้าพูดถึงคำว่า “สงกรานต์” เรานึกถึงอะไร
- เปียก รวมญาติ ร้อน รวย (หัวเราะ) เพราะญาติจะเอาเงินค่าขนมให้ แต่สุดท้ายก็ไปอยู่ที่แม่หมด
จริงจังแล้วนะ คำว่า “ประเพณี” สำหรับเราคืออะไร
- คือสิ่งดีที่ทำต่อกันมา และควรทำต่อไป ก็ถ้าเชื่อว่าดีก็ควรทำต่อไป
มาถ่ายแฟชั่นเซ็ตนี้แล้วรู้มั้ยเนี่ยว่าวันสงกรานต์ของชาวล้านนาเขาแบ่งเป็นวันอะไรบ้าง
- เอาจริงๆ ไม่รู้เลย (หัวเราะ) เพราะเราเป็นคนกรุงเทพด้วยมั้ง แต่ว่าเคยได้ยินนะ เช่นวันปากปี ต้องพูดสิ่งดีๆ
จากการรดน้ำแบบกะปริดกะปรอยในอดีต สู่การสาดกันแบบฮาร์ดคอยุคปัจจุบัน เรารู้สึกยังไง
- จริงๆ มันอยู่ที่ว่าเราเล่นกับใครมากกว่า สมมติเราเล่นกับครอบครัว แล้วเราไปสาดเขา โครม! มันก็อาจจะรุนแรงเกินไป แต่ถ้ากับเพื่อนก็อาจจะได้มากกว่า
หรืออย่างเรื่องการเอาน้ำแข็งมาอะแด็ปใส่น้ำให้เย็นขึ้น เราว่าก็ไม่ผิดนะ แต่ต้องอยู่ในความพอดี คือต้องไม่มีใครตายเพราะโดนน้ำแข็งฟาดหน้า จะแบบ
กะปริดปะปรอย หรือหนักๆ ก็ได้ทั้งนั้น ถ้ามันอยู่ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
เราคิดว่าคำว่าประเพณีสามารถจับต้อง หรือเปลี่ยนแปลงได้มั้ย
- ได้ (ตอบทันที) คือมันก็ต้องมีการ up to date นะ สังคมเรามันก็เดินไปข้างหน้าเรื่อย ๆ มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงแน่ ๆ เพียงแต่การเปลี่ยนแปลง
หรือแตะต้องประเพณีบางอย่างมันก็ควรจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีมากกว่าทางที่แย่ ซึ่งมันก็ต้องขึ้นอยู่กับการเห็นด้วยของคนส่วนใหญ่ด้วยนะ
บางทีถ้ามันสุดโต่งเกินไปก็ไม่ได้
สิ่งหนึ่งคือเราว่ามนุษย์เราชอบคิด คิดสิ่งนั้นสิ่งนี้ มันก็จะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นพร้อมกับยุคสมัยที่มันเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างเช่นการเต้นโคโยตี้ในวันสงกรานต์
ของยุคนี้ อีกหน่อยอนาคตอาจครีเอตถึงขั้นต่อตัวกันสามชั้นเต้นเลยก็ได้ ตราบใดที่ไม่มีใครเดือดร้อนก็ทำไปเถอะ แต่ถ้ามีคนเดือดร้อนก็ต้องมา
ปรับในจุดที่พอดี ประเพณีบางอย่างถ้าเปลี่ยนแล้วมันดี ก็จะมีคนทำต่อไป ถ้ามันเข้ากับยุคสมัย มันพอดี มันเหมาะสม มันก็โอเคสำหรับเรานะ
ตอบยาวมาก คำถามสุดท้าย ปีนี้จะไปเจอข้าวเขียวเล่นน้ำสงกรานต์ได้ที่ไหน
- ปีนี้ทำงานวันสงกรานต์ค่า มาเจอกันได้ที่ร้านนะคะ แต่หลังร้านปิดค่อยมาสาดกันนะ(หัวเราะ)
ติดตามข้าวเขียวได้ที่
Facebook : ข้าวเขียว คิมูจิ
Instagram : frogggggggggggie
WHAT'S ON THIER MIND -
“ประเพณีสงกรานต์นี้ยึดโยงอยู่กับศรัทธาและความเชื่อ แต่ในระยะหลังเราจัดกิจกรรมมาเพื่อการขาย เพื่อการท่องเที่ยวมากขึ้น
โหมโฆษณาสงกรานต์เชียงใหม่ คนที่มาสงกรานต์เชียงใหม่จริง ๆ ก็ไม่ได้สนใจว่าวันไหนจะเป็นวันพญาวัน วันเนา เขาก็มาเล่นน้ำกันตามที่เราโฆษณา
กลัวว่าวันหนึ่งถ้าคนเก่า ๆ ที่ยึดถือปฏิบัติก็เป็นคนอายุมากแล้ว หากไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อวันหนึ่งความหมายเดิมของประเพณีก็อาจเลือนหายไปหมด”
สนั่น ธรรมธิ
นักวิชาการ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ลักษณะ พิธีกรรม และกิจกรรมของวันปีใหม่เมืองได้เปลี่ยนแปลงไปมากด้วยอิทธิพลด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นปัจจัยที่
หลีกเลี่ยงได้ยากในเมืองใหญ่และเขตท่องเที่ยว ซึ่งอันที่จริงแล้วไม่ใช่เรื่องถูกหรือเรื่องผิด เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงไปตามวันเวลาเท่านั้น
อย่างไรเสีย ในพื้นที่ที่ยังไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยนเแปลงก็ควรรักษาประเพณีดั้งเดิมเอาไว้ด้วย”
เจริญ มาลาโรจน์ (มาลา คำจันทร์)
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2556
นักเขียนรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์)จากเรื่อง เจ้าจันท์ผมหอม นิราศพระธาตุอินทร์แขวน
“แก่นของประเพณีสงกรานต์คือการเปลี่ยนผ่าน ในขณะที่คนรุ่นใหม่มองว่าวันสงกรานต์คือวันหยุดยาว วันที่จะได้กลับบ้านไปเจอเพื่อนเก่า
เล่นน้ำกัน สนุกสนาน แต่สงกรานต์จริง ๆ แล้วมีความหมายมากกว่าการเล่นน้ำหรือการรดน้ำดำหัวด้วยซ้ำ แต่ความเปลี่ยนแปลงก็เป็นเรื่อง
ที่ห้ามไม่ได้และไม่ใช่เรื่องแย่ แต่ก็เป็นหน้าที่ของคนรุ่นใหม่ที่ควรศึกษาและเข้าใจรากเหง้าแบบดั้งเดิมไว้เช่นกัน”
ณัฐพงษ์ ปัญจบุรี
อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
“หนึ่งคือการปฏิบัติเมื่อมีการเปลี่ยนผ่าน เป็นเรื่องของการทำสิ่งดี ๆ ในการเริ่มต้นเช่นเดียวกับปีใหม่ของจีน การโหยหาอดีตของคนในสังคมมีมากขึ้น
วัฒนธรรมและประเพณีกลายเป็นสิ่งพิเศษที่มีคุณค่า และมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่แค่คนล้านนาที่รู้สึกว่าต้องมีส่วนร่วมในประเพณี คนในภูมิภาคอื่น ๆ
ก็อยากจะมีส่วนร่วม มูลค่าก็เกิดขึ้น เป็นช่องทางให้คนในท้องถิ่นสร้างรายได้ “หน้าที่” ของประเพณีถูกเพิ่มขึ้นจากสร้างความสบายใจ เป็นสร้างรายได้ขึ้นอีก
โดยที่บางครั้งหน้าที่เดิมก็อาจจะถูกลืมเลือนไปบ้าง รายได้ก็มาทำหน้าที่สร้างความสบายใจให้แทน “โลกมีความเปลี่ยนแปลง” ถ้าหากเราเข้าใจใน
ประโยคนี้ก็จะเข้าใจปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นว่า -มันเป็นเช่นนี้เอง”
ระดมโชค ปวงบุผา
ข้าราชครู โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์ฯ กรุงเทพมหานคร