สงกรานต์ในเสิร์ชเอนจิน
Lifestyle
- Pen: pinsel
- Lens:
Posted: 06 April 2018
สงกรานต์ในเสิร์ชเอนจิ้น: การเปลี่ยนแปลงของเทศกาลและภาพจำ
pen : Pinsel illustrator : Palita Chaleepote
– 1 –
ลองมาเล่นอะไรสนุก ๆ กันไหม เริ่มจากการหยิบโทรศัพท์มือถือหรือคอมพิวเตอร์ของคุณขึ้นมา กดเข้าเสิร์ชเอนจินสักเว็บหนึ่ง แล้วกดค้นหารูปภาพโดยใช้คีย์เวิร์ดคำว่า ‘สงกรานต์’
ทีนี้ลองเสิร์ชค้นหารูปภาพเหมือนกัน แต่ใช้คีย์เวิร์ดเป็นภาษาอังกฤษ ว่า ‘Songkran’ แทน – มองเห็นความแตกต่างบ้างไหม?
เมื่อใช้คีย์เวิร์ดเป็นภาษาไทย รูปภาพที่ปรากฏขึ้นกว่าครึ่งจะเป็นภาพการเล่นสงกรานต์ในรูปแบบหนึ่ง คือนุ่งชุดไทย ใช้ขันเงิน ประแป้งสองแก้ม ก่อกองทราย เข้าวัด ทำบุญ ดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ในขณะที่เมื่อใช้คีย์เวิร์ดเป็นภาษาอังกฤษ เราจะได้ผลการค้นหาอีกแบบหนึ่งที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน
ชวนให้ตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น
– 2 –
เราคงไม่กล้าตัดสินว่าผลการค้นหาแบบไหนที่คือภาพที่ถูกต้องหรือถูกบิดเบือน แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผลการค้นหาปรากฏให้เห็นอย่างต่างกันโดยสิ้นเชิงนี้ ส่วนหนึ่งเป็นความเข้าใจหรือการรับรู้ (Perception) เกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์ของผู้ใช้ภาษาทั้งสองภาษานี้แตกต่างกัน
หรือเมื่อมองผ่านสื่อและเครื่องมือที่ชวนมาเล่นสนุกเมื่อครู่แล้ว อาจพูดแบบกลาง ๆ ได้ว่า เครื่องมือที่เราใช้ในการค้นหานั้นต่างหากที่เข้าใจว่าเรา (ซึ่งหมายถึงผู้ใช้ภาษาทั้งสองภาษา) รับรู้ความหมายของเทศกาลสงกรานต์ต่างกัน
– 3 –
ไหนลองมาเล่นสนุกกันอีกสักที แต่ครั้งนี้เราจะเปลี่ยนคีย์เวิร์ดจากคำว่า ‘สงกรานต์’ และ ‘Songkran’ เป็นคำว่า ‘ลอยกระทง’ และ ‘Loy Krathong’
น่าแปลกใจที่ครั้งนี้เราได้ผลลัพธ์ค่อนข้างคล้ายกัน
ยิ่งชวนให้ตั้งคำถามซ้อนคำถาม ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่
ผู้เขียนจึงวิ่งตามความฟุ้งซ่านของตัวเองด้วยการลองเปลี่ยนคีย์เวิร์ดในการค้นหาไปอีกหลายคู่ โดยเลือกสุ่ม ๆ เอาจากคำที่คิดว่าเรา ( - ขอย้ำอีกที ว่าหมายถึงผู้ใช้ภาษาทั้งสองภาษา ซึ่งอาจหมายถึงคนไทยกับฝรั่ง อาจหมายถึงเจ้าบ้านกับนักท่องเที่ยว หรืออาจหมายถึงคนที่ใช้ภาษาไทยกับคนที่ใช้ภาษาอังกฤษเท่านั้นไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติหรือบริบทอื่น ๆ ) รู้จักเหมือนกัน เช่น ปีใหม่/New Year วาเลนไทน์/Valentine ช้างไทย/Thai Elephant ผัดไทย/Pad Thai มาเรื่อย ก็ยังคงได้ผลลัพธ์ที่คล้ายกัน
ยิ่งชวนให้ตั้งคำถามซ้อนคำถามซ้อนคำถาม ว่าเกิดอะไรขึ้นกันเนี่ย?
– 4 –
สุดท้ายจึงต้องกลับมาใช้คีย์เวิร์ดเจ้าปัญหาคำเดิมอีกครั้ง คือ ‘สงกรานต์’ และ ‘Songkran’ แต่ครั้งนี้เราเจาะจงชื่อสถานที่เป็นอีกคีย์เวิร์ดคู่ไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น ‘สงกรานต์เชียงใหม่ / Songkran Chiang Mai’ ‘สงกรานต์กรุงเทพ / Songkran Bangkok’ ‘สงกรานต์พัทยา / Songkran Pattaya’ และอีกหลาย ๆ สงกรานต์ – และครั้งนี้เราได้ผลการค้นหาที่ค่อนข้างเหมือนกัน
รู้สึกคล้าย ๆ กับเรากำลังเดินทางมาถึงบ้างอ้อ แต่ก็ยังไม่ถึงบ้างอ้อ
เลยต้องตั้งคำถามต่อว่า แล้วภาพ ‘สงกรานต์’ ที่ได้จากการค้นหาแบบไม่ระบุสถานที่ อันประกอบไปด้วยผู้คนนุ่งชุดไทยสไบเฉียง เกล้าผมทัดดอก ประแป้งยิ้มเอียงคอขวยเขินนั้นมาจากพื้นที่ไหนไหนประเทศไทย
เป็นคำถามที่ชักจะเริ่มไม่ค่อยสนุก
– 5 –
การรับรู้ภาพสงกรานต์ของใครกันที่บิดเบี้ยว?
อาจฟังดูเฝือ และดูเป็นคำกล่าวหา แต่ก็เลี่ยงจะพูดไม่ได้ว่าคีย์เวิร์ด ‘สงกรานต์’ (ที่ไม่ระบุสถานที่)นั้นคือภาพการรับรู้อันเกิดจากสายตาของ ‘ประเทศไทย’ โดยรวม หรือ ‘อำนาจรัฐ’ นั่นเอง
สุดท้ายแล้วไม่ใช่เสิร์ชเอนจินเข้าใจไปเอง แต่ ‘เรา’ มีความเข้าใจเกี่ยวกับเทศกาลสงกรานต์แตกต่างกันจริง ๆ – เราในที่นี้ไม่ได้หมายถึงผู้ใช้ภาษาไทยกับผู้ใช้ภาษาอังกฤษอีกแล้ว แต่กลายเป็นเราที่หมายถึงปัจเจกและรัฐต่างหาก
เรียนตามตรงว่าตั้งแต่เกิดมา แม้จะผ่านเทศกาลสงกรานต์มามากกว่ายี่สิบครั้ง ผู้เขียนเองยังไม่เคยเห็นภาพการเล่นสงกรานต์ครั้งไหนที่ตรงกับภาพจากคีย์เวิร์ด ‘สงกรานต์’ (ซึ่งถูกผู้เขียนแปะป้ายไปเสียแล้วว่าคือภาพสงกรานต์ในความเข้าใจของอำนาจรัฐ) เลยแม้แต่หนเดียว จะมีให้เห็นก็จากโปสเตอร์ จากป้ายเชิญชวน จากโฆษณาต่าง ๆ ก็เท่านั้น
– 6 –
จริงอยู่ว่าเราไม่ควรตัดสินหรือสร้างข้อเสนอใด ๆ โดยมีหลักฐานเป็นผลการค้นหาภาพจากเสิร์ชเอนจินได้เลย แต่การเล่นสนุกที่ได้คำตอบไม่ค่อยสนุกในครั้งนี้ก็พาให้นึกถึงคำว่า “การแช่แข็งวัฒนธรรม” ให้อยู่ในภาพของการเป็นวัฒนธรรม “อันดีงาม” ที่มีอำนาจรัฐเป็นผู้กำหนดว่าใครควรจะเฉลิมฉลองอะไรด้วยวิธีใด แต่งกายอย่างไร ในวันที่เท่าใดของปี
ด้วยเหตุผลใดผู้เขียนเองก็ไม่สามารถอธิบายได้ แต่หากจะลงใจเชื่อมั่นในผลการค้นหาการเสิร์ชเอนจินกันอีกสักที ก็พอจะตีความได้ว่าการแช่แข็งจากรัฐนี้แทบไม่มีผลใด ๆ ต่อเทศกาลสงกรานต์เลย
“ก็เดือนเมษามันร้อน แช่ให้ตายอย่างไรก็ไม่แข็งหรอก” – คนข้าง ๆ พูดขึ้นมาอย่างติดตลก
แล้วผู้เขียนก็เดินทางมาถึงบางอ้อในบรรทัดนี้.
- สงกรานต์ไม่ใช่ปีใหม่ไทย แต่เป็นปีใหม่อินเดีย -
อินเดียมีสงกรานต์อยู่ทุกเดือนเพราะสงกรานต์หมายถึงการเคลื่อนย้ายราศี แต่เมื่อราศีย้ายจากราศีมีนเข้าราศีเมษ
จะเรียกว่า ‘มหาสงกรานต์’ ก็คือปีใหม่นั่นเอง
- ปีใหม่ไทยไม่ใช่เดือนมกราคมหรือเมษายน -
ปีใหม่ไทยที่แท้จริงอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนนักษัตรในเดือนอ้าย (ราวเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม)
ซึ่งเป็นปีใหม่ร่วมในวัฒนธรรมอุษาคเนย์
- การสาดน้ำสงกรานต์เพิ่งเริ่มขึ้นเมื่อไม่ถึงร้อยปีก่อน -
หลักฐานเรื่องสงกรานต์ในไทยที่เก่าแก่ที่สุดถูกระบุว่าพบในจารึกวัดโพธิ์ (ช่วงรัชกาลที่ 3) ซึ่งเชื่อได้ว่าไม่แพร่หลายเท่าใดนัก
แม้กระทั่งในหนังสือพระราชพิธีสิบสองเดือนซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อเรือน พ.ศ.2455 (106 ปีก่อน) ก็ไม่ปรากฏว่ามีการสาดน้ำใน
เทศกาลสงกรานต์แต่อย่างใด นักวิชาการบางท่านเชื่อว่าการสาดน้ำในช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ได้รับอิทธิพลมาจากประเทศเมียนมา
โดยเริ่มต้นขึ้นในแถบล้านนา แล้วจึงแพร่หลายมาถึงกรุงเทพฯ แล้วจึงเป็นที่นิยมไปทั่วประเทศด้วยนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
ของรัฐบาลเมื่อราวช่วง 50 กว่าปีให้หลังนี้เอง