Shadow of Nation: เงาของพ่อ
Cool pals
- Pen: Frank Dolp
- Lens: Banana
Posted: 18 October 2017
“ที่เราเสียใจ เพราะเราคิดว่าพระองค์หายไปจากพวกเรา แต่จริงๆ มันอาจไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมเชื่อว่าแสงจะพาพระองค์กลับมาเยี่ยมพวกเรา ถ้าหากรู้สึกเสียใจหรือหมดกำลังใจ 1 ชั่วโมงที่พระองค์ปรากฏจะช่วยเยียวยาหัวใจของทุกคนได้ครับ”
คำกล่าวอันอบอุ่นจาก ดร.บุรินทร์ ธราวิจิตรกุล อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ออกแบบภาพเงาพระพักตร์ที่กินใจคนไทยทั้งประเทศ เล่าให้เราฟังถึงที่มาของงานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตรชิ้นนี้
ก่อนหน้านี้ คณะสถาปัตยกรรมอาจจะดูเหมือนเป็นพื้นที่สำหรับนักออกแบบหรือผู้คนที่เกี่ยวกับข้องกับแวดวงด้านสถาปัตยกรรมเท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับเนืองแน่นไปด้วยผู้คนมากหน้าหลายตา ไม่จำกัดแม้กระทั่งคนต่างจังหวัดและต่างประเทศ เพราะทุกคนต่างมีจุดประสงค์เดียวกันคือ เพื่อรับชมพระพักตร์อันแย้มพระสรวลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่จะปรากฏให้เห็น ณ พิกัดเวลา 15.52 น. ราวกับท่านเสด็จมาเยี่ยมเยียนเหล่าพสกนิกรด้วยพระองค์เอง อาจารย์บุรินทร์เล่าให้เราฟังพลางพาพวกเราเดินไปชมชิ้นงานจริง “โปรเจ็กต์นี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม ของปีที่แล้วครับ เป็นช่วงหลังจากที่ผมเห็นน้องๆ คณะวิจิตรศิลป์กำลังวาดพระบรมสาทิสลักษณ์บนกำแพงอาคาร เราก็เลยคิดว่า ถ้าคณะเราจะสร้างผลงานแบบนั้นบ้าง ก็น่าจะดีต่อผู้พบเห็นด้วยเหมือนกัน อีกส่วนหนึ่งคือตัวผมเป็นคนที่สนใจเรื่องปรากฏการณ์ของแสงและเงาที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติอยู่แล้วครับ พร้อมกับอยากให้งานออกแบบมันสอดคล้องกับวิถีของสถาปนิก งานจึงออกมาในรูปแบบนี้ครับผม”
นับเป็นความอัศจรรย์ที่ชิ้นงานดังกล่าว สามารถบังคับให้แสงฉายเงาออกมาเป็นพระบรมสาทิสลักษณ์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ และพอดีกับเวลา 15.52 น. ซึ่งตรงตามเวลาที่พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัยอย่างพอดิบพอดี แถมตัวชิ้นงานยังสามารถหมุนเพื่อที่เราจะเห็นพระพักตร์พระองค์ในสัดส่วนที่เหมือนเดิมตลอดทุกฤดู แถมเราเริ่มใส่ระบบกลไกไฟฟ้าเข้าไปด้วย และคำนวณให้จานหมุนเองตามเวลาของปฏิทินจริงด้วยครับ แต่ก่อนหน้าที่งานชิ้นนี้จะมอบความชุ่มฉ่ำหัวใจให้แก่ผู้พบเห็นนั้น ทั้งเวลาในการออกแบบที่มีจำกัด บวกกับราคาของวัสดุ และน้ำหนักโครงสร้างที่มากเกินไป ในช่วงแรกๆ ของโปรเจ็กต์ ล้วนเต็มไปด้วย “ความเป็นไปไม่ได้” ทั้งสิ้น หากไม่ได้ความช่วยเหลือจากเพื่อนร่วมวิชาชีพที่เปี่ยมอุดมการณ์
“เราทำงานแข่งกับเวลามากครับ นอกจากที่จะต้องแบ่งเวลาจากการสอนแล้ว เราต้องทดลองทุกอย่างให้เสร็จภายในหนึ่งเดือน ไม่อย่างนั้นเราแสงอาทิตย์จะเปลี่ยน โมเดลก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่หมด แถมช่วงแรกๆ เราหาทางออกเรื่องวัสดุไม่ได้ซักที เราคำนวณโมเดลแรกด้วยโครงสร้างเหล็กก่อนเพราะประหยัดที่สุด แต่พอคำนวณปุ๊บ เราท้อเลยครับ เพราะมันติดตั้งไม่ได้จริงๆ แน่นอน โชคดีที่ตอนนั้น เพื่อนผมที่ทำธุรกิจด้านวัสดุก่อสร้างทราบว่าเรากำลังทำโปรเจ็กต์นี้อยู่ เลยแนะนำมาว่าให้ใช้เป็น Aluminium Composite ดีกว่ามั้ย เพราะภายนอกเป็นโลหะแต่แกนกลางเป็นพลาสติก น้ำหนักเบา คงทน กันแดดกันฝนได้ พร้อมกับขนวัสดุตรงนี้ให้เราเอามาสร้างงานทั้งหมด โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเลยครับ ดังนั้น โปรเจ็กต์นี้จะเกิดไม่ได้แรงสนับสนุนจากทุกภาคส่วน จากหลายๆ มือที่ตัดสินใจเสียสละทั้งเวลา แรงกาย และแรงใจ ผมจึงไม่อยากให้ผลงานชิ้นนี้เป็นของใคร แต่อยากให้เป็นของเราทุกคน เหมือนกับที่พระองค์เป็นพ่อของเราทุกคนครับ” อาจารย์บุรินทร์กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม
ท้ายสุดนี้ หากใครที่หมดหวัง หมดกำลังใจในการใช้ชีวิต หรือกำลังท้อกับภาระปัญหาที่ต่างถาโถมเข้ามาไม่หยุดยั้งล่ะก็ ผมเชื่อว่ามีหนึ่งรอยยิ้มที่จะช่วยบรรเทาให้ทุกข์ทั้งหลายมลายสิ้น เป็นรอยยิ้มที่พร้อมจะช่วยเติมเชื้อไฟแห่งแรงบันดาลใจให้ลุกโชน เป็นรอยยิ้มที่เป็นแบบอย่างแห่งการเสียสละ การให้ที่ไม่รู้จบ เป็นรอยยิ้มที่แม้ปรากฏให้เห็นเพียงวันละ 1 ชั่วโมง แต่ก็มีคุณค่าพอที่จะทำให้เรารอคอยอย่างใจจดใจจ่อ สำคัญที่สุด รอยยิ้มนี้เป็นของพ่อจากบนฟากฟ้า พ่อของปวงประชาที่ไม่ว่าท่านจะประทับอยู่ไกลแค่ไหน รอยยิ้มของพระองค์ก็ยังคงสถิตอยู่กับเราเสมอ
คอลัมน์ FINE Smile จาก FINE/DAE Magazine ISSUE 87